Image

โครงการยกระดับและพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมตามตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ 3 ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Resource efficiency) และจัดทำฐานข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรร่วมกัน (RECP) ในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด (จังหวัดระยอง สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี นครปฐม และปทุมธานี)

ความเป็นมาของโครงการ

     กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ได้กำหนดกรอบการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในภาคอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2562 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ยกระดับและพัฒนาโรงงานในพื้นที่เป้าหมายใน 15 จังหวัด ซึ่งมีโรงงานทั้งสิ้น จำนวน 5,374 โรงงาน ปัจจุบันได้รับยกระดับไปแล้ว 1,774 โรงงาน คงเหลืออีก 3,600 โรงงาน ที่ต้องได้รับการยกระดับและพัฒนา ดังนั้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้จัดทำโครงการยกระดับและพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมตามตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ 3 ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Resource efficiency) และจัดทำฐานข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรร่วมกัน (RECP) ในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด (จังหวัดระยอง สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี นครปฐม และปทุมธานี) เพื่อให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ในส่วนภาคอุตสาหกรรม) ผ่านเกณฑ์การประเมินความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ 3 ซึ่งต้องมีโรงงานที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ครบจำนวนตามตัวชี้วัดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ 2 ในส่วนของโรงงาน และพัฒนาโรงงานให้ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดรายโรงงานตามตัวชี้วัดความเป็นเมืองอุตสาหกรรม ระดับที่ 3 ต่อไป

วัตถุประสงค์โครงการ
     1) เพื่อยกระดับและพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด ตามแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency: RE) ผ่านเกณฑ์การประเมินความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ 3
     2) เพื่อสร้างกระบวนการยกระดับและพัฒนาโรงงานสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีคุณค่าต่อสังคม (Eco Social Value Factory: ESV – Factory) พร้อมการขับเคลื่อนไปด้วยระบบเครือข่ายและระบบพี่สอนน้องในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด 10 พื้นที่
     3) สร้างมาตรฐานให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด 10 พื้นที่ ให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีคุณค่าต่อสังคม (Eco Social Value Factory: ESV – Factory)
     4) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับโรงงานอุตสาหกรรมให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
     5) รวบรวมข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่ ส่งมอบให้กับศูนย์ข้อมูลการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Center) เพื่อประโยชน์ในการวางแผนวิเคราะห์ พัฒนาความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

ขั้นตอนการให้คำปรึกษาเพื่อยกระดับและพัฒนาโรงงานและการประกวดการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีคุณค่าต่อสังคม​

Image

พื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด 10 พื้นที่

Image

ตัวชี้วัดการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

Image